Sunday, April 6, 2014

การศึกษาจะเริ่มต้น ต่อเมื่อบุคคลนั้น "พร้อม".


เราต้องยอมรับความจริงกัน ว่าไม่ใช่เด็ก ๆ ทุกคนพร้อมที่จะอยู่ในสถานภาพ "นักเรียน"

การจัดการให้ผู้ที่ยังไม่พร้อมจะเรียนรู้ เข้าสู่วัฏจักรทางการศึกษาไม่ว่าในองค์แวดล้อมแบบไหน มีแต่จะทำให้บุคคลนั้นได้รับสิ่งที่ยังไม่ควรจะได้ (ในมุมเขาเอง) และหาความหมายไปไม่ถึง

เราต้องไม่มองโลกด้านเดียว (อุดมคตินิยม) เกินไป
ที่คิดว่าเด็กทุกคน "บ้าเรียน".
และผู้ใหญ่ก็ต้องไม่ "บ้าคาดหวัง" จนครบทุกคน
..ควรเหลือผู้ใหญ่ที่ยังไม่เป็นบ้าไว้บ้างครับ.

แต่อันที่จริงมันเป็นเพียง "ภาพสะท้อนทางพฤติกรรม" เท่านั้นเอง
พฤติกรรมการเรียนการสอนรูปแบบหนึ่ง ๆ ที่แค่ไม่เหมาะกับเด็กทุกคน
เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำคือการค้นหากลวิธีอย่างอื่น ๆ ที่ทำให้เด็กบางคน "พร้อม" โดยไม่รู้ตัว
..แต่กระนั้นก็ท้าทายอยู่ดีครับ ว่าผู้จัดการศึกษาก็ต้องไม่บ้าเิกินเหตุไปอีก
เพราะการตัดสินใจที่ไม่เปิดเผยนั้นเกิดในใจ มองเห็นไม่ได้

การศึกษาจะเริ่มต้น ต่อเมื่อบุคคลนั้น "พร้อม". เสมอ..


.......
ภาพจาก morefm.co.nz

Saturday, March 29, 2014

กำลังเปลี่ยนแปลงโดเมนเว็บไซต์นะครับ

เราจะยุติโดเมนเนม chronoszine.com ลงนะครับ
โดยจะให้เว็บนี้อยู่ภายใต้ซับโดเมนของ chronosmusic.com เหมือนในช่วงเริ่มต้นอีกครั้ง

ขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ โอกาสนี้ครับ.

#### อัพเดตว่าจัดการโดเมนเรียบร้อยแล้วนะครับ
โดยเป็น zine.chronosmusic.com ดังที่ปรากฎในแอดเดรสบาร์ของเบราเซอร์ตอนนี้ครับ

Thursday, December 5, 2013

บทถวายพระพรเนื่องในวันเฉลิมพระชนม์พรรษา..




..กษัตริย์คือ องค์ผู้นำ นักรบกล้า       สู้ยิบตา กิเลสมาร ที่เคี่ยวเข็ญ
ปลดพันธะ อันเร่าร้อน ถอนให้เย็น       ด้วยความรู้ ผู้บำเพ็ญ ทรงแบ่งปันฯ

..ทั้งทางโลก ทางวิญญาณ ทรงหาญนัก       ทั้งความรัก ความเมตตา ข้าฯ เสริญสรร
จะกี่ล้าน กาลเวลา แห่งจอมราชันย์       ขอปกเกล้าฯ เท่ากาลนั้น ด้วยภักดีฯ

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะฯ
ข้าพระพุทธเจ้า นายวีณาฑัต ธรรพ์วิมลบุตร
ประพันธ์ถวายพระพรเนื่องในวันเฉลิมพระชนม์พรรษา
๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๖


....

Tuesday, October 15, 2013

ทรัพย์สินทางปัญญาควรเป็นทักษะของประชากร

Sunday, May 12, 2013

ความคิดของเด็ก ๆ... - Vnatat Thunwimolbhute

"ความคิดของเด็ก ๆ มักคิดถึงอาชีพที่ตัวเองอยากจะเป็น. โดยไม่สนเรื่องรายได้ของอาชีพนั้นในหัวเลย, ก็แค่เป็นอะไรที่อยากเป็น ..อยากทำไปตลอดเวลาเท่านั้น."

ความคิดของเด็ก ๆ... - Vnatat Thunwimolbhute:

'via Blog this'

ตัวอย่างด้านการพัฒนาทักษะการอ่านและแนวคิดด้านเวลา | Thai Creative Economy

คุณคิดว่า..
  • การอ่านหนังสือให้ออกเป็นเรื่องของ "เด็ก" คนนึง หรือว่า..
  • การอ่านหนังสือให้ออกเป็นเรื่องของ "คน" คนนึง.
แนวคิดด้านเวลาที่ปรากฏในรูปคำศัพท์ในภาษาไทยที่สัมพันธ์กับตัวบุคคล กลายเป็นเหมือนกรอบแห่งโอกาสทางสังคมและการได้รับการปฏิบัติใส่ใจ

เมื่อเราใช้คำว่า "เด็ก" หรือ "ผู้ใหญ่" ..พูดแปะลงไปที่ "คนคนนึง".. ทัศนที่เรามีจะเปลี่ยนไปตามคำที่เ้ราเลือกใช้อย่างทันที

คุณลองคิดดูครับว่า..
  • ถ้าเราเรียกคนอายุ 9 ขวบคนนึงว่า "ผู้ใหญ่" หรือว่า..
  • ถ้าเราเรียกคนอายุ 75 คนนึงว่า "เด็ก". คุณพบว่าทัศนหรือกระบวนการทางความคิดความเชื่อ (ในทางจิตวิทยาเรียก 'สามัญสำนึก' ..หมายถึงระดับหนึ่งของจิตสำนึกของมนุษย์) ของคุณจะถูกสลับหรือไม่..?
..แล้วโอกาสทางสังคมและการได้รับการปฏิบัติใส่ใจ ในการที่ใครคนนึงจะได้เพื่อการพัฒนาทักษะด้านการอ่านหนังสือของตัวเองให้ออก ควรจะเป็นอย่างไรในความเป็นจริง

คุณจะตีกรอบเค้าด้วยคำว่า "เด็ก" ..ให้เวลาคนคนนึงไว้แค่นั้น
คุณคิดว่าถ้าเค้าทำไม่ได้ในช่วงเวลาแห่งศัพท์ระบุวัยอย่างนั้น ..สมองเค้าทึบและพัฒนาไม่ได้อย่างนั้นหรือ?

เส้นผมบังภูเขามั้ยครับ..
..หรือภูเขาบังเส้นผม.
ที่ทำให้ชีวิตคนเราเต็มไปด้วยสิ่งที่เป็นไปไม่ได้


.......


ตัวอย่างด้านการพัฒนาทักษะการอ่านและแนวคิดด้านเวลา | Thai Creative Economy:

Friday, March 1, 2013

อุตสาหกรรม เลว..จริงหรือ?

ภาพจาก: luna17activist.blogspot.com
โลกยังไม่ถึงจุดจบ ..นั่นหมายถึงทุกอย่างยังคงออกแบบได้ด้วยสติปัญญาเสมอ.

"คุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน" เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ต้องคิดในเมื่อเราปรารถนาแนวทางมนุษยนิยม     เรื่องราวในอดีตเกี่ยวกับการเอารัดเอาเปรียบกันนั้น เป็นที่มาของการที่ผู้คนจำนวนมากตกลงใจที่จะโทษว่าระบอบอุตสาหกรรมนั้น 'เอาดีไม่ได้'
มันจริงดังนั้นหรือ..?
 หากเราไม่มองเฉพาะการที่ผู้คนต้องออกจากครอบครัวไปทำงาน กลไกหนึ่งแห่งอารยธรรมมนุษย์ยุคปัจจุบันที่เรียกว่า 'อุตสาหกรรม' นี้ เกี่ยวพันหรือนำอะไรมาให้เราบ้าง?

  1. โรงเรียน - ที่หลายคนอาจมองว่า การศึกษาของมนุษย์ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวพันกับวัฒนธรรมด้านอุตสาหกรรมก็ได้ นั่นเป็นความจริง..ส่วนหนึ่ง. เพราะอันที่จริงเราต้องลงไปที่รายละเอียดของความคิดเห็นเช่นนั้น ว่า.. เรื่องราวใดบ้างแห่งความรู้แจ้งที่เราเลือกจะสั่งสอนคนของเราในแต่ละอารยธรรมชนชาติ. โดยเฉพาะสาขาที่หลายฝ่ายทำใจโยนทิ้งไม่ไหวนักอย่าง "วิทยาศาสตร์" ..ซึ่งปัจจุบันมีบทบาทมากต่อชีวิตของผู้คนผ่านบริบทของอุตสาหกรรม. เรื่องหลักที่เราต้องเรียนรู้กันจริง ๆ คือการอยู่ร่วมกันแบบมีเมตตาธรรม ไม่เอาเปรียบใคร ไม่เบียดเบียนใคร. การศึกษาดั้งเดิมของอารยธรรมส่วนใหญ่อยู่ที่ "ศาสนา" ซึ่งเป็นเรื่องภายใน ..และการศึกษาของโลกที่เป็นเรื่องภายนอกนั้น บริบทล้วนต่างกันไปในแต่ละอารยธรรม บั้นปลายแล้วคงเป็นการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เราปฏิเสธไม่ได้ว่าโรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้คนไปแล้ว ไม่ว่าการศึกษานั้นจะจัดขึ้นที่ไหนก็ตาม แม้แต่ในบ้าน. และวิทยาศาสตร์ยังมีบทบาทต่ออารยธรรมดาวเคราะห์นี้ไปอีกนาน
  2. สุขภาพและการพยาบาล - ความเจ็บป่วยนั้นเป็นของคู่กันกับสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ การมีเทคโนโลยีทางการแพทย์นั้นเป็นพัฒนาการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมและการวิจัยอย่างตรงไปตรงมา การมีโรงพยาบาลและสถานพยาบาลขนาดต่าง ๆ ล้วนต้องการการสนับสนุนทางเวชภัณฑ์มากมายตลอดเวลา ควบคู่ไปกับการให้การศึกษาสมัยใหม่แก่ประชากร เพื่อให้พวกเขาสามารถดูแลชีวิตตัวเองได้ ..มนุษย์ยุคก่อนนั้นก็มีเทคโนโลยีทางการแพทย์และพยาบาลเช่นกัน และหลายสาขาที่ตกทอดมาก็ยังคงใช้ได้มีประสิทธิภาพที่สูง แต่อีกบริบทหนึ่งก็มีเรื่องของการเอารัดเอาเปรียบกันในสังคมเหมือนกัน ไม่ว่าจะยุคสมัยใด ดูเหมือนเรายังคงต้องจัดการที่ความคิดความอ่านของ "คน" เป็นหลักอยู่นั่นเอง.
  3. อาหารและเกษตรกรรม - ส่วนนี้หลายฝ่ายเห็นพ้องกันว่า โลกไม่ต้องมีโรงงานอุตสาหกรรมก็ได้ถ้าทุกครอบครัวทำการเกษตรในครัวเรือนกัน เพราะที่สุดของการเป็นสิ่งมีชีวิตคือเรื่อง "อาหาร". เป็นชีวิตแบบอุดมคติทางเดียวที่จะล้มล้างระบอบอุตสาหกรรมได้จริง แต่เราก็รู้ว่ามนุษย์ไม่ได้คิดแบบนี้ทุกคน. ถ้าเราศึกษาย้อนไปในประวัติศาสตร์ เราจะพบว่าจุดเริ่มต้นของการควบคุมปริมาณและคุณภาพของอาหารนั้นล้วนสัมพันธ์กับคุณสมบัติทางนิเวศน์วิทยาของแต่ละท้องถิ่นอย่างปัจเจก แต่ปัจจัยที่เหนือกว่านั้นคือการเอารัดเอาเปรียบกันของคน (อีกแล้ว)
ทั้ง 3 ตัวอย่างนั้นล้วนพัฒนาไปตามเวลา และหลายเหตุการณ์เกี่ยวกับมันก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่เกิดกับมนุษยชาติในระดับสากล เป็นตัวอย่างเพียงส่วนเล็ก ๆ เท่านั้นที่เกิดเกี่ยวพันกับระบอบอุตสาหกรรมของโลก เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า "วิทยาการ" มีบทบาทกับวิถีชีวิตมนุษย์อย่างมหาศาล และมันเป็นผลพลอยได้จากการวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (ถ้าเราเลือกจะมองประโยชน์ที่เราได้รับ มากกว่าเรื่องเบื้องหลังในบางทิศทางที่เป็นบริบท corruption)

ตลอดบทความชิ้นนี้ ผู้อ่านคงสัมผัสได้อย่างไม่ยากถึงปัจจัยหลักที่เกือบกลายเป็น 'ปัจจัยล่องหน' อย่าง "การเอารัดเอาเปรียบกันของคน" ..ซึ่งเป็นเรื่องความเจตนาในเจตจำนงที่จะประหารเจตจำนง.

ตัวการของปัญหาจริง ๆ คือกิเลสตัณหาอย่างไม่สิ้นสุดของคนบางกลุ่มบางพวกในสังคมนี่เอง ที่ทำให้ไม่ว่าจะมีความคิดอันสร้างสรรค์ทางอารยธรรมใด ๆ ที่ปรากฏขึ้นมาใหม่ จะถูกทำลายความงามลงไปด้วยกิเลสตัณหาอันไม่สิ้นสุดของคนเราจนได้. ซึ่งถ้าเรามองอย่างเป็นธรรมเราจะพบว่า เรื่องที่ควรจัดการคือวิธีคิดและความเชื่อเกี่ยวกับความต้องการของมนุษย์นี่เองครับ


โลกยังไม่ถึงจุดจบ ..นั่นหมายถึงทุกอย่างยังคงออกแบบได้ด้วยสติปัญญาเสมอ.


.......