ภาพจาก blogs.mcclatchydc.com |
[การชมภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยมุมมองที่ต้องการเห็นภาพคอมพิวเตอร์กราฟิกของความเสียหายต่าง ๆ เป็นสำคัญ อาจทำให้พลาดประเด็นสำคัญที่ผู้สร้างต้องการสื่อไปได้ครับ ..โดยเฉพาะกระแสการประชาสัมพันธ์ของภาพยนตร์เรื่องนี้โดยทั่วไปในตลาดทั่วโลกเองก็เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นไปในทิศทางดังกล่าว ..ทำให้ผู้ชมส่วนใหญ่พุ่งความสนใจไปที่ภาพของหายนะต่าง ๆ ..แทนที่จะได้เก็บสาระที่หนังมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมไปอย่างน่าเสียดาย]
แม้หนังจะสร้างอ้างอิงกับกระแสเรื่องปฏิทินของเผ่ามายัน ที่ว่าโลกอาจถึงกาลแตกดับวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ.2012 ก็ตามที ..แต่เนื้อหาของหนังได้นำเสนอ "ตัวเอกจริง ๆ" ที่หนังได้อ้างอิงอยู่ตลอดเรื่อง คือ หนังสือนิยายที่ตัวละคร -แจ็คสัน เคอร์ติส- (แสดงโดยจอห์น คูแซค) เป็นผู้เขียน. ซึ่งมีชื่อเรื่องว่า "อำลา..แอตแลนติส".
แอตแลนติส ..คือทวีปในตำนานเล่าขานซึ่งเชื่อกันมายาวนานว่ามีอยู่จริง เป็นโลกในครั้งบรรพกาลที่เชื่อกันว่ามนุษยชาติได้ขึ้นสู่จุดสูงสุดทางอารยธรรม ก่อนที่ทวีปทั้งทวีปจะจมลงใต้มหาสมุทรอันไพศาล.. โดยที่ยังเป็นที่ตามหากันมาโดยตลอดกระทั่งทุกวันนี้ว่า ..ทวีปแอตแลนติสนั้นคือสถานที่แห่งใด? ..และน่าจะจมอยู่ที่ใดกันแน่ใต้ผืนน้ำ..?
หนังสือนิยายเรื่อง "อำลา.แอตแลนติส" ที่ตัวละครแจ็คสัน เคอร์ติสเป็นผู้เขียนนั้น ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงเป็นระยะ ๆ ตลอดเรื่อง กระทั่งในตอนท้าย
การล่มสลายของโลกแบบที่เรารู้จัก คือภาพหายนะภัยทั้งหมดที่หนังนำเสนอให้ผู้ชมเราได้เห็น ซึ่งเปรียบเทียบความเจริญของยุคสมัยปัจจุับันเข้ากับการล่มสลายของแอตแลนติสในตำนาน (เล่าให้สอดคล้องกับหนังสือที่ตัวละครเขียนตลอด). มีการกล่าวถึงปฏิทินเผ่ามายันในกระแสเพียงช่วงสั้น ๆ เท่านั้น เท่ากับว่าผู้สร้างภาพยนตร์ไม่ได้ต้องการนำเสนอประเด็นในกระแสนี้เป็นหลัก ..แต่ทิศทางของ "อารมณ์ของตัวละคร" จากสถานการณ์ทั้งหมดของเรื่อง ถ่ายเทไปที่ "หลักมนุษยธรรม" ..ที่มนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์ควรมีให้แก่กันและกันแม้โลกจะไม่คับขันก็ตาม.
ถ้าเราหมดความเป็นมนุษย์เมื่อไร ..เมื่อนั้นเราก็กำลังล่มสลาย
นี่คือประเด็นหลักของภาพยนตร์ "2012" ที่ผู้สร้างต้องการนำเสนอครับ.
ลาสเวกัส ..เป็นสถานที่พื้นหลังแห่งหนึ่งในหนัง ที่กล่าวถึงอารยธรรมมนุษย์ที่รู้จักกันอยู่ทั้งหมด ลาสเวกัสในความเป็นจริงนั้น ทราบกันโดยทั่วไปว่ามีสถาปัตยกรรมจำลองสถานที่สำคัญ ๆ ของโลกเอาไว้อย่างมากมาย เช่น ปีระมิดแห่งอียิปต์และสฟิงส์, หอไอเฟล ฯลฯ ..และลาสเวกัสเอง ยังเป็นสถานที่ที่ได้รับการกล่าวในสังคมอเมริกันว่า เป็น "เมืองแห่งคนบาป" ..เมืองแห่งบาป หรือ "Sin City".. เนื่องจากเป็นนครแห่งความบันเทิงเริงใจ สถานที่เล่นการพนันถูกกฎหมาย โรงละครและมหรสพต่าง ๆ ..ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ถึงความรุ่มรวย ฟุ้งเฟ้อ เพ้อคลั่ง ของความเป็นมนุษย์ผู้เต็มไปด้วยกิเลสตัณหา เช่นเดียวกับการนิยามเล่าถึงสาเหตุการล่มสลายของแอตแลนติสในตำนานโดยทั่วไป. เราจึงได้ชมภาพการล่มสลายของลาสเวกัส ที่มีภาพการหักพังของสถาปัตยกรรมอันเป็นตัวแทนอารยธรรมมนุษย์ยุคเชื่อมโยงกับปัจจุบันทั้งหมดนั่นเองครับ
ภาพจาก www.13moon.com |
เหตุการณ์น้ำท่วมโลกในหนัง.. อ้างอิงเปรียบเทียบไปถึงเหตุการณ์น้ำท่วมโลกในคัมภีร์ไบเบิล โดยให้มีตัวละครลูกชายของแจ็คสันที่ชื่อ "โนอาห์" กับเรือที่จะยังไม่ออกจนกว่าตัวละครโนอาห์นี้จะได้ขึ้นเรือไปด้วย (เปรียบเทียบว่านี่คือ "เรือของโนอาห์") (แน่นอนว่าพ่อของโนอาห์ ย่อมถูกเล่าเปรียบเทียบว่าเป็นพระเจ้าผู้สร้างโลก ..โดยให้สถานะแห่งการเป็น..ผู้ประพันธ์นิยาย "อำลา..แอตแลนติส" ..ซึ่งหมายถึงเป็นพระเจ้าของนิยายเล่มเอกนี้..เป็นตัวสะท้อนนัยยะไว้อย่างโจ่งแจ้ง แต่เงียบ ๆ..)
น้ำในหลักคริสตศิลป์ จะอ้างอิงถึงพิธี "บัพติศมา" อันพิธีเป็นการชำระล้างบาปที่สำคัญ (ภาพยนตร์ฮอลลีวูดและตะวันตกส่วนใหญ่ ที่ใส่ฉากน้ำเข้ามา มักมีนัยยะถึงการชำระล้างบาปครับ) ..ซึ่งในหนังจะให้น้ำท่วมโลกเลยทีเดียว ซึ่งหมายถึงการที่พระผู้สร้างทำการชำระล้างบาปแห่งโลกนั่นเอง ..และหลังการชำระเสร็จสิ้นก็จะเท่ากับเป็นการ -กำเนิดใหม่- นั่นเอง
ภาพจาก missessb028.blogspot.com |
หนังมีการกล่าวถึงพุทธศาสนานิกายมหายาน ..ไว้อย่างค่อนข้างให้ความสำคัญ (เราจะเห็นว่ามีภาพของพระในศาสนาพุทธยืนอยู่บนยอดเขาลูกหนึ่ง เป็นเวอร์ชั่นหนึ่งของใบปิดภาพยนตร์ที่เผยแพร่ออกมาด้วยซ้ำครับ) ..ทั้งการหยิบยืมคำสอนเชิงปรัชญาเรื่องการกำจัดความวุ่นวายในจิตใจ..ในสถานการณ์ยุ่งเหยิงคับขัน (เปรียบเหมือนถ้วยที่มีน้ำเต็ม..ไม่สามารถเติมน้ำใหม่ลงไปได้ มีแต่จะล้นออก, ให้ใช้สติและปัญญา โดยเทความยุ่งยากใจออกไปเสียก่อน เพราะการถามความเห็นผู้อื่นในตอนที่จิตเหมือนถ้วยที่มีน้ำเต็มนั้น ย่อมไม่สามารถรับข้อมูลใหม่ ๆ เข้าไปได้ ..เมื่อจิตว่างก็จะเหมาะต่อการสนทนาทางปัญญา) และยังมอบภาพของการยอมรับในความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ด้วยฉากน้ำที่ท่วมถึงศาลาบนยอดเขานั้น โดยที่มีพระชั้นผู้ใหญ่นั่งอยู่อย่างสงบ ไม่ร้อนใจหลบเลี่ยงคลื่นน้ำมหึมาไปไหน
ตัวละครที่เป็นพระลามะธิเบต ก็เป็นตัวแทนของพระพุทธศาสนาที่เด่นชัดและมีส่วนร่วมในสถานการณ์ของตัวละครหลักไปด้วย ..ซึ่งหากจะกล่าวความกันอย่างไม่เข้าข้างชาวพุทธจนเกินไปนัก ..ก็กล่าวได้อยู่ครับ..ว่าเป็นสัญลักษณ์รูปธรรม ของศาสนาเดียวที่เหลืออยู่ในตอนท้ายของเรื่องครับ ท่ามกลางประชากรที่เหลืออยู่จากหลากเชื้อชาติ ..หลากศาสนา ที่รอดชีวิตอยู่บนเรือต่าง ๆ เพื่อเริ่มต้นอารยธรรมมนุษย์กันใหม่ (ศาสนาพุทธนิกายมหายานในสายตาชาวตะวันตกนั้น เป็นศาสนาที่มีความเป็นสากลทางเพศสภาพ และมีความเป็นมนุษยนิยมที่สูง ..สามารถอ่านเพิ่มเติมในคอลัมน์หนังเล่าว่า "Cloud Atlas เหล่าโลหิตเมฆา..ผู้สัญจร" ครับ)
ภาพจาก criticker.com |
ฉากของการต่อรองสิทธิ์ในการขึ้นเรือต่อผู้นำประเทศต่าง ๆ ..ชี้ประเด็นหลักที่หนังต้องการสื่อถึงปัจจัยที่จะดำรงไว้ซึ่ง "อารยธรรมมนุษย์ทั้งปวง" ..นั่นคือ -หลักมนุษยธรรม- และการมีเมตตาต่อกันโดยเจตจำนงอันกล้าแกร่ง ผ่านสถานการณ์การตัดสินใจของผู้นำประเทศต่าง ๆ ที่จะอนุญาตให้คนทุกชั้นทุกวรรณะได้โดยสารเรือไปด้วยทั้งหมด
คำว่า "ประเทศ" ไม่ได้หมายถึงพื้นดินเปล่า ๆ หรือเขตแดนใด ๆ
และแม้แต่คำว่า "โลก" เองก็เช่นเดียวกัน
..สิ่งที่ทำให้เป็นหรือมีเต็มอยู่ซึ่งหมายความของประเทศหรือโลกนั้น. คือ "ผู้คน".
..ผู้คน.. ที่เปี่ยมด้วยหลักมนุษยธรรมอันงดงามต่างหาก คือสิ่งที่เราควรดำรงไว้ให้จงได้..
ผู้คนเหล่านี้ คือ หมายความที่แท้และเป็นตัวตนที่จริงของ
"อารยธรรม".
ตัวอย่างภาพยนตร์ 2012
.......
บางอย่างในหนังคือดูแล้วได้คิดตาม หนังเล่าเรื่องกล่าวออกมาได้ครบรสครับ
ReplyDelete